ร่วมประเพณีไทย ยิ่งใหญ่ตระการตา กับประเพณีผีตาโขน
ประวัติประเพณีผีตาโขน ประเพณีบุญหลวง
งานประเพณีบุญหลวง และการละเล่นผีตาโขน เป็นงานประเพณีประจำปีของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ค่ะ ซึ่งจะจัดขึ้นหลังวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม ที่ถนนหลายๆ สายของอำเภอด่านซ้าย หรือที่อื่นๆ ในจังหวัดเลย โดยเป็นงานที่มีบรรยากาศของความสนุกสนานรื่นเริง และมีชื่อเสียงอย่างมากในประเทศไทย
การละเล่นผีตาโขน เป็นงานประเพณีที่มีมาอย่างยาวนาน แต่ไม่มีหลักฐานปรากฎแน่ชัดว่าจัดขึ้นตั้งแต่ยุคใด ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ได้ปฏิบัติและสืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ จึงทำให้งานประเพณีผีตาโขน เป็นประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัดเลย โดยเป็นการนำโดยนำงานบุญหลวง หรือ บุญผะเหวด งานบุญบั้งไฟ งานบุญซำฮะ (สะเดาะเคราะห์บ้านเมือง) และการละเล่นผีตาโขนมารวมเป็นงานเดียวกัน เพื่อเป็นการ บูชาอารักษ์หลักเมือง และพิธีการบวงสรวงดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์
ที่มาของผีตาโขน
ต้นกำเนิดของ ผีตาโขน นั้น เดิมมีชื่อเรียกว่า ผีตามคน เป็นเทศกาลที่ได้รับอิทธิพลมาจาก มหาเวสสันดรชาดก ชาดกในพระพุทธศาสนา มีตำนานว่า
เมื่อครั้งพระเวสสันดร และนางมัทรี จะเดินทางออกจากป่ากลับเข้าสู่เมือง มีผีป่าและสัตว์ต่างๆ ที่รักพระเวสสันดรและนางมัทรี พากันแฝงตนมากับชาวบ้านเพื่อมาส่งทั้งสองพระองค์กลับสู่เมืองด่วยความอาลัย นั่นคือที่มาของ “ผีตามคน” หรือ “ผีตาขน” จนกลายมาเป็น “ผีตาโขน” ในปัจจุบันนั่นเองค่ะ
โดยในขบวนแห่ผีตาโขนนั้น ผู้ที่แต่งกายเป็นผีตาโขนนั้น จะต้องสวมหน้ากากที่ทำจากหวดนึ่งข้าวเหนียว แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันสดใส และออกเดินร่วมขบวนไปกับขบวนแห่งานบุญหลวง
ปู่เยอ-ย่าเยอ ตำนาน ต้นกำเนิดผีตาขน
นอกจากนี้ ยังมีตำนานที่กล่าวถึง บรรพบุรุษต้นกำเนิดผีตาขน คือ ปู่เยอ-ย่าเยอ ตำนานเล่าว่า ณ เมืองแถน มีเครือเขากาดยักษ์เครือหนึ่ง ขึ้นไปถึงสวรรค์ชั้นฟ้าปกคลุมลงมาบนพื้นดินทำให้บดบังแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ บ้านเมืองมีบรรยากาศสลัวมืดมิดและหนาวเย็น ประชาชนเดือดร้อนทำมาหากินไม่ได้
วันหนึ่งมีผู้เฒ่าสองผัวเมีย ชื่อ ปู่เยอ-ย่าเยอ มาขออาสาตัดเครือเขากาดยักษ์นั้น พระยาขุนบูลมจึงถามว่า หากสามารถตัดเครือเขากาดยักษ์ได้ ต้องการอะไรเป็นรางวัล เฒ่าทั้งสองตอบว่าไม่ขอรับของรางวัลใดๆ ทั้งสิ้น ขอเพียงหากทั้งสองตายขอให้ทุกคนอย่าลืมชื่อของทั้งสองและขอให้เคารพสักการบูชาด้วย
พระยาขุนบูลมจึงรับปาก จากนั้นปู่เยอ-ย่าเยอจึงถือขวานขนาดใหญ่มุ่งหน้าเดินทางไปยังโคนต้นเครือเขากาดยักษ์ทันที และลงมือตัดทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นเวลา 3 เดือนกับอีก 3 วัน จึงสามารถตัดเครือเขากาดยักษ์นั้นลงมาได้
แต่เครือเขากาดยักษ์นั้นมีขนาดใหญ่มาก เมื่อขาดแล้วจึงได้ล้มลงมาทับปู่เยา-ย่าเยอตายในทันที และบรรยากาศมืดมิดก็เปลี่ยนเป็นสว่างกลับมาสู่ผืนแผ่นดินอีกครั้ง ประชาชนก็ทำมาหากินได้ตามปกติ พระยาขุนบูลมพร้อมด้วยไพร่ฟ้าประชาชนจึงตั้งศาลและนำ“ขน” ของปู่เยอ-ย่าเยอไว้เคารพสักการะนับแต่นั้นเป็นต้นมา เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงามความดีของปู่เยอและย่าเยอ
ความเชื่อในประเพณีผีตาโขน
มีความเชื่ออีกว่า ประเพณีผีตาโขน เป็นการละเล่นเพื่อบวงสรวงบูชาดวงวิญญาณบรรพชนที่เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งจะกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองบ้านเมือง ดลบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ หรือความหายนะก็ได้ ดังนั้นเพื่อให้ดวงวิญญาณบรรพชนพอใจ ชาวบ้านจึงจัดให้มีการละเล่นผีตาโขนขึ้น
อ้างอิง: https://travel.trueid.net/detail/V27xVYEpAxW3
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น